โรคต้อหิน
ต้อหิน (Glaucoma) โรคของดวงตาชนิดหนึ่งเกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา หรือประสาทตาถูกทำลาย มีปัจจัยหลักมาจากการที่ความดันลูกตาสูงเกิดการกดทับขั้วประสาทตา จนทำลายประสาทตา
ความดันตา หมายถึง ความดันของของเหลวที่ไหลเวียนอยู่ภายในลูกตา โดยทั่วไปค่าความดันตาอยู่ที่ 5-22 มิลลิเมตรปรอท หากพบความดันตาสูงกว่า 22 มิลลิเมตรปรอทถือว่าเป็นภาวะความดันตาสูง และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดต้อหิน
ปัจจัยเสี่ยงของต้อหิน
- เชื้อชาติ คนเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกันจะพบต้อหินสูงกว่าคนผิวขาวถึง 6-8 เท่า ส่วนคนเชื้อชาติเอเชียจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมุมปิด
- อายุมากกว่า 40 ปี
- มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน
- ตรวจพบความดันตาสูง
- เคยมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา
- การใช้ยาสเตียรอยด์
- ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ สายตายาวหรือสั้นมาก กระจกตาบาง โรคเบาหวาน ไมเกรน
การรักษาต้อหิน
การรักษาด้วยยา มีเป้าหมายในการรักษาเพื่อลดความดันตาให้อยู่ในระดับที่ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้น ในปัจจุบันยารักษาต้อหินมีหลายกลุ่ม ซึ่งยาหยอดเหล่านี้จะออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาหรือช่วยให้การไหลเวียนออกของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาดีขึ้น การรักษาด้วยยาจำเป็นต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และแพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการรักษา การดำเนินโรค และผลข้างเคียงจากยา
การใช้เลเซอร์ โดยประเภทของเลเซอร์ที่ใช้จะขึ้นกับชนิดของต้อหินและระยะของโรค
Selective laser trabeculoplasty (SLT) เป็นการรักษาต้อหินมุมเปิด ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาหยอดตาแล้วได้ผลไม่ดีนัก มักเลือกใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ
Laser peripheral iridotomy (LPI) เป็นการรักษาต้อหินมุมปิด
Argon laser peripheral iridoplasty (ALPI) ใช้ร่วมกับ LPI หรือในกรณีไม่สามารถใช้ LPI รักษาได้
Laser cyclophotocoagulation มักใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล
การผ่าตัด ใช้รักษาผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้
Trabeculectomy เป็นการผ่าตัดทำทางระบายสำหรับน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาใหม่เพื่อลดความดันตา
Aqueous shunt surgery กรณีที่ผ่าตัดวิธีแรกไม่ได้ผล อาจทำการผ่าตัดด้วยการใส่ท่อระบายเพื่อลดความดันตา
วิตามินฟื้นฟูดวงตาจากโรคต้อหิน
เมื่อคนเรารับประทานอาหารที่อุดมไปด้วย เรตินอล (วิตามินเอ) มักมีโอกาสน้อยที่จะเป็นโรคตาที่เกี่ยวข้องกับอายุเช่นต้อตาต่างๆ บำรุงตาให้สดใสมากขึ้น อีกทั้งป้องกันจากโรคต่างๆ ซึ่งอาหารบางชนิดที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ได้แก่
ไข่
ตับ
น้ำมันตับปลา
ปลามัน (ปลาแซลมอนและปลาทูน่า)
ผักบุ้ง
เบต้า แคโลทีน (Beta-Carotene)
มีการศึกษาหลายแห่ง สนับสนุนว่า ผักและผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนสูง (เช่น แครอท) มีผลในการป้องกันดวงตา ฟื้นฟูดวงตา จากโรคตาต่างๆ ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยต่างๆ แล้วว่าช่วยกับดวงตาได้จริง ซึ่งจะอยู่ในผักผลไม้เหล่านี้ ได้แก่
มันเทศ
แคนตาลูป
แอปริคอต
มะละกอ
ฟักทอง
ลูทีน และ ซีแซนทีน (Lutein and Zeaxanthin)
งานวิจัยแนะนำพวกผักใบเขียว จะมีสารที่เรียกว่า ลูทีนและซีแซนทีน สูง ซึ่งในงานวิจัยหลายฉบับบอกว่า ช่วยป้องกันโรคตา และ อุดมไปด้วยวิตามินบำรุงสายตา จากโรคตาต่างๆ เช่น จอประสาทตาเสื่อม ป้องกันต้อกระจก
ผักคะน้า
กระหล่ำปลี
ผักโขม
บร็อคโคลี
กะหล่ำปลี
ต้อกระจก
สาเหตุของต้อกระจก
ต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาขุ่นและแข็งขึ้น มักพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป สาเหตุหลัก คือ อายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงตามวัย แต่ก็สามารถพบได้ในคนกลุ่มน้อย เช่น เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดจากมารดาที่ติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น
การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน
มีโรคประจำตัวตัวที่ทำให้เกิดต้อกระจกได้ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยดืทำงานผิดปกติ
ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ สายตาสั้นมากๆ เคยผ่าตัดตามาก่อน เช่น หลังผ่าตัดจอตา
ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
เคยมีอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือดวงตาได้รับการกระทบบ่อยๆ
การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
อาการของต้อกระจก
มองไม่ชัดอย่างช้า ๆ ไม่มีการอักเสบหรือปวด มองเห็นมัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นในเนื้อเลนส์
ภาพซ้อน สายตาพร่า เกิดจากความขุ่นของเลนส์แก้วตาไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว ในผู้ป่วยบางรายจะมีสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย ๆ บางรายสายตาสั้นขึ้นจนกลับมาอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น
สู้แสงสว่างไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะขณะขับรถในตอนกลางคืน
มองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ต้องการแสงสว่างมากขึ้นในการมอง
เมื่อต้อกระจกสุก อาจสังเกตเห็นเป็นสีขาวตรงรูม่านตา ซึ่งปกติเห็นเป็นสีดำ หากละเลยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในตา ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
การรักษาต้อกระจก
- วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification With Intraocular Lens)
- วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens)
การป้องกันการเกิดต้อกระจก
- สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินเอ อี และซี ช่วยบำรุงสายตา อย่างไรก็ดีการรับประทานวิตามินเสริมยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าลดความเสี่ยงการเกิดต้อกระจกได้
- แนะนำควรตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
อาหารบำรุงสายตาที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคต้อกระจก
1. อาหารที่อุดมไปด้วย วิตามิน C
งานวิจัยจาก National dietary study (Secondary National Health and Nutrition Examination Survey) พบว่า อาหารที่วิตามินซีสูงช่วยลดการเกิดโรคต้อกระจกได้ แหล่งอาหารที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม น้ำส้มคั้นสด มะละกอ แคนตาลูป พริกหวานยักษ์สีเขียว น้ำมะเขือเทศ สตอเบอร์รี่ บร็อคโคลี่ เกรปฟรุต
2. อาหารที่อุดมไปด้วย วิตามิน E
วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดต้อกระจกได้ แหล่งอาหารที่มีวิตามินอี เช่น อัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย Safflower oil ถั่วลิสง เนยถั่ว น้ำมันข้าวโพด
3. แคโรทีนอยด์
สารแคโรทีนอยด์ที่ เรียกว่า ลูทีนและซีแซนทีน ก็เป็นสารอาหารอีกกลุ่มหนึ่งที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งสามารถป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกได้เช่นกัน แหล่งอาหารที่มีลูทีนและซีแซนทีน เช่น ผักคะน้า ผักใบเขียวตระกูลคะน้าอื่นๆ เช่น Kale, Collard greens ผักโขม ปวยเล้ง บร็อคโคลี่ ข้าวโพดหวานสีเหลือง ถั่วลันเตา พริกหวานยักษ์สีส้ม ส้มเขียวหวาน หัวผักกาดสีเขียว (Turnip greens)
4. โอเมก้า 3
Omega -3 โดยทั่วไปแล้วนักโภชนาการแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในปลาทะเล เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าโอเมก้า 3 มีประโยชน์ในการลดอัตราการเกิดโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม ลดการเกิด Plaque ในหลอดเลือดและหรือลดการอักเสบของเรตินา แหล่งอาหารที่มีโอเมก้า-3 เช่น ปลาเฮอร์ริ่ง ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทู ปลาเทร้าท์ ปลาทูน่า วอลนัท แฟล็กซีด (Ground flaxseeds) เมล็ดเจีย (Chia seeds) น้ำมันเมล็ดแฟล็กซีด (Flaxseed oil) นำมันคาโนล่า (Canola oil)
โรควุ้นตาเสื่อม
วุ้นตา (Vitreous) มีลักษณะเป็นเจลหนืด ใส อยู่บริเวณส่วนหลังของภายในช่องตา ซึ่งประกอบด้วยน้ำ โปรตีน เส้นใย ได้แก่ คอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิก และสารเกลือแร่ต่าง ๆ เมื่อวุ้นตาเกิดการเสื่อมสภาพจากเจล กลายเป็นน้ำ เส้นใยไฟเบอร์ในตาจะหดจับกันเป็นก้อนขุ่น เกิดการลอกออกของวุ้นตาจากผิวจอตา หรือผิวจอประสาทตาลอก (Posterior Vitreous Detachment : PVD) หากมีการฉีกขาดของหลอดเลือดบริเวณจอตา มีเลือดออกในวุ้นตา และสามารถฉีกขาดได้ หากไม่ได้รับการรักษาจะเข้าสู่ภาวะจอตาหลุดลอก (Retinal Detachment) อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นตลอดชีวิต
สาเหตุของโรควุ้นตาเสื่อม
ความเสื่อมตามวัย มักจะพบในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป
การอักเสบในวุ้นตา และจอตา (Intermediate and Posterior Uveitis)
ภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตา จากอุบัติเหตุ หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด
การมองตัวอักษรที่อยู่บนจอคอมพิวเตอร์ และจอโทรศัพท์
การก้มมองแป้นพิมพ์ตัวอักษร
การเลื่อนอ่านสื่อต่างๆ ที่อยู่บนจอคอมพิวเตอร์ และจอโทรศัพท์
โรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน และสายตาสั้น
อาการวุ้นตาเสื่อม
เห็นจุดสีดำลอยไป ลอยมา เวลามองฟ้า มองฝ้า เพดาน หรือกลอกตา
มองเห็นไม่สะดวก รู้สึกรำคาญ เมื่อเวลาผ่านไปถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็นเส้นสีดำนี้
เห็นแสงแฟลชเหมือนกล้องถ่ายรูป ขณะหลับตา หรืออยู่ในที่มืดไม่มีแสง
ในอาการที่รุนแรงจะเห็นจุดเงาสีดำเพิ่มมากขึ้น จนจอตาฉีกขาด หรือจอตาลอก และไม่สามารถมองเห็นอะไรได้อีกเลย
การรักษาวุ้นตาเสื่อม
การทำเลเซอร์ ทำลายวุ้นตาที่เสื่อม หรือการจี้ความเย็นเพื่อปิดรอยฉีกขาด และป้องกันการเกิดจอตาหลุดลอก
การผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) โดยการนำวุ้นตา และเศษเนื้อที่เสียหายออก และใช้วุ้นตาจากสารละลายน้ำเกลือ (Saline) ทดแทน การผ่าตัดวุ้นตาไม่ได้นำวุ้นตาออกทั้งหมด และสามารถสร้างขึ้นมาใหม่เองได้ตามธรรมชาติ
การป้องกันวุ้นตาเสื่อม
ตรวจสุขภาพดวงตา อย่างน้อยปีล่ะ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
หลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรือการอ่านหนังสือในที่แสงสว่างไม่เพียงพอ
หลีกเลี่ยงการนอนหลับในที่สว่าง
การใส่แว่นตานิรภัย เพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุที่บริเวณดวงตา
อาหารป้องกันวุ้นตาเสื่อม
ลูทีน และ ซีแซนทีน สามารถพบได้ในดวงตาโดยเฉพาะบริเวณจุดรับภาพของจอตา (Macula) สารทั้งสองชนิดนี้มีความสำคัญในการช่วยป้องกันรังสียูวีจากแสงแดด และยังช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาไม่ให้ถูกทำลาย
ดังนั้น การทานอาหารที่มี ลูทีน และ ซีแซนทีน จึงช่วยชะลอการเสื่อมของดวงตาได้ โดยส่วนมากมักพบในดอกดาวเรือง โกจิเบอร์รี่ และในผักสีเขียว เช่น บร็อคโคลี่ ผักกาด คะน้า โหระพา เป็นต้น
แหล่งข้อมูล: